[[ #MoveON!!! ]] New Way, New Industry อนาคตและโอกาสธุรกิจประเทศไทย #PTT
คุณอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

[[ #MoveON!!! ]] New Way, New Industry อนาคตและโอกาสธุรกิจประเทศไทย #PTT

.

วันก่อนผมไปร่วมงานเสวนา “New Era Economy อนาคตประเทศไทย” จัดโดย ประชาชาติธุรกิจ ได้ฟังพี่โด่ง คุณอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้เล่าเรื่องที่เป็นประโยชน์อย่างมากกับอนาคตของธุรกิจไทย ขออนุญาตสรุปมาให้อ่านกันครับ

.

•เริ่มต้นด้วย Geopolitics Conflicts

ทุกวันนี้เราจะได้ยินเรื่อง Geopolitics Conflicts กันมากขึ้น เพราะมันเกิดขึ้นแล้วระหว่างอเมริกา-รัสเซียซึ่งเป็นของโลก ส่วนภายในประเทศ เราเผชิญกับปัญหากับดักรายได้ปานกลาง ที่สะสมมานานแล้ว รวมทั้งปัญหาโลกร้อน และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่ต้องอาศัยความจริงใจช่วยเหลือของรัฐบาลมาช่วยแก้ปัญหา

และที่สำคัญที่สุดคือเรื่อง “นวัตกรรมและการพัฒนาคน” เราจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยแล้ว

.

•มาตรการ QE

ความท้าทายอีกอย่างคือการที่สหรัฐอเมริกาประกาศใช้ QE ซึ่งที่จริง เริ่มมาตั้งแต่ Hamburger Crisis จนถึงสถานการณ์โควิดที่เพิ่งผ่านไป นโยบายประชานิยมเหล่านี้ถูกใช้เรื่อยมา โดยเฉพาะประเทศใหญ่ๆ อย่างกลุ่มยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น จนกระทั่งทำให้สหรัฐอเมริกาต้องการดึงสภาพคล่องกลับ จึงปล่อยนโยบายขึ้นดอกเบี้ย สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดผลกระทบโดยตรงกับอุตสาหกรรมในตอนนี้

.

•มุมมองการลงทุนใน Start Up เริ่มเปลี่ยนไป

ภาพที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ 3-5 ปีก่อนเรียกได้ว่าเป็นยุคทองของสตาร์ตอัพ แต่เมื่อสภาพคล่องโลกหายไป นักลงทุนเริ่มคิดเยอะ ด้วยในอดีตรอบการ Raise Fund แต่ละครั้งมักตั้งเป้าเพิ่มปริมาณลูกค้าไม่ใช่เป้าของกำไร ดังนั้นคำถามของนักลงทุนในวันนี้จึงเปลี่ยนเป็น “เมื่อไหร่เงินที่ลงทุนลงไปจะได้ผลตอบแทนเป็นกำไร?”

นี่เป็นความท้าทายใหม่ของสตาร์ตอัพ

.

•แล้วอะไรที่จะเป็น New Industry?

พี่โด่งบอกว่า ประเทศไทยมี 12 S-Curves ที่ควรตั้งเป้าหมายและทำให้เกิดได้จริง เพราะเรามีศักยภาพจากฐานอุตสาหกรรมเดิมมาอย่างยาวนาน แต่ควรจะเริ่มปรับ และยกระดับให้ดีขึ้น

.

ในฐานะที่ปตท. เป็นองค์กรสำคัญในด้านพลังงานของประเทศ ก็ยังปรับตัว ปรับวิสัยทัศน์ใหม่ว่า “Powering Life with Future Energy and Beyond” ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังงานแห่งอนาคต โดยแบ่งธุรกิจออกเป็น 2 กลุ่ม เรียกว่า กลุ่ม Future Energy และกลุ่ม Beyond

.

Future Energy นี่น่าสนใจมากครับ เพราะผลกระทบจาก Climate changes จากนี้จะมีการใช้พลังงานจากฟอสซิลและถ่านหินถึงปี 2025 แล้วจะค่อยๆ ลดลง ส่วนน้ำมันก็จะใช้สูงสุดถึงในช่วงปี 2034-2035 แล้วจะค่อยๆ ลดลงเช่นกัน ส่วนก๊าซธรรมชาติถือว่ายังไปได้ไกลพอสมควร เพราะก๊าซธรรมชาติเป็นแหล่งพลังงานที่สะอาดที่สุด

.

ที่เริ่มเกิดขึ้นแล้วคือการใช้ “พลังงานทดแทน” ที่แน่นอนว่าจะยิ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นในอนาคต ตอนนี้จึงเป็นช่วง Transition Fluels กำลังเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานทดแทน

.

Future Energy ที่สำคัญในอนาคต คือเรื่องของ “Energy Storage System แบตเตอรี่เพื่อการกักเก็บพลังงาน” และ “EV รถยนต์พลังงานไฟฟ้า” และ “Hydrogen” โดยเฉพาะอุตสาหกรรมใหญ่ระดับโลก ต่อไปจะต้องการโรงงานต้นทางการผลิตที่ใช้พลังงานสะอาดทั้งกระบวนการ ดังนั้นพลังงานทดแทนย่อมจะกลายเป็นเรื่องสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ

.

ส่วนในบ้านเรา ปัจจุบันมีกำลังการผลิตประมาณ 4,000 เมกะวัตต์ แต่เมื่อประกาศนโยบาย Net Zero ภายในปี 2065 เท่ากับเราต้องผลิตพลังงานทดแทนมากกว่า 50% หรือมากกว่า 3 หมื่นเมกะวัตต์ ภายในปี 2050 เป็นทั้งความท้าทายและโอกาส ที่เกิดขึ้นในวันนี้

.

ขณะเดียวกัน ปตท. ได้ใช้เทคโนโลยีช่วยพัฒนาเครื่องมือเก็บพลังงานจากแสงแดดหรือพลังงานลมด้วย เช่น Floating Solar แผงโซล่าเซลล์ลอยน้ำได้ และยิ่งจะท้าทายมากหากสามารถลอยบนผืนน้ำทะเล เพราะมีพื้นที่มาก

.

โดย ปตท. ตั้งเป้าว่าจะมีการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมากกว่า 12,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2030 และส่วนหนึ่งที่ใช้เทคโนโลยีใหม่มาช่วยคือการทำ “Smart Energy Platform” และ “Smartgrid” เป็นแพลตฟอร์มที่สามารถซื้อ-ขายพลังงานกันได้เลยภายในนิคมอุตสาหกรรม

.

ในด้าน EV Value Chain นั้น ประเทศไทยสามารถเป็น Automotive Hub of Asia ได้ ด้วยแนวโน้มเติบโตของรถ EV จากปี 2021 ถึง 2022 สูงขึ้นเกือบ 200% และประเทศไทยยังถูกจัดอันดับให้เป็นแหล่งผลิตของรถ EV อันดับ 9 ของโลก ด้วยเรามีฐานการผลิตของรถยนต์ในแบบสันดาปเดิมอยู่แล้ว

.

แล้วถ้าเราจะเป็น EV Hub ได้ พี่โด่ง บอกว่า ต้องใช้กลยุทธ์ “Last man standing” ทำให้โรงงานของเราเป็นที่สุดท้ายของโลก

ไม่ว่าโรงงานอื่นๆ อาจต้องทยอยปิดด้วยความไม่พร้อม แต่เราจะต้องคิดว่าจะปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต รวมทั้งนโยบายสนับสนุนของรัฐบาลได้อย่างไร จึงทำให้โรงงานในประเทศไทยเป็นที่สุดท้ายของโลก

.

เพราะธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า EV มี Value Chain มากมาย ตั้งแต่วัสดุ โอกาสในการทำปิโตรเคมี แบตเตอรี่ จนไปถึงเรื่องของ Mobility Services เช่นที่ปตท. ได้ทำ App “EV Me” สำหรับเลือกเช่ารถยนต์ไฟฟ้าได้เกือบทุกยี่ห้อ ใครที่ยังไม่เคยก็จะได้ทดลองใช้ก่อนตัดสินใจซื้อ และจะเพิ่ม EV Charger สถานีชาร์จพลังงานทั่วประเทศภายในปีนี้

แปลว่า ถึงเวลาของ “รถยนต์ไฟฟ้า” แล้วครับ

.

อีกกลุ่มธุรกิจของ ปตท.ที่ผมสนใจ พี่โด่งเล่าถึงกลุ่ม “Beyond” ว่าจะเป็นธุรกิจที่นอกเหนือจากเรื่องพลังงานไปเลย แต่จะครอบคลุมในด้าน ไลฟ์สไตล์, High Value Business และ AI, Robotics

.

ที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ บ้านเรากำลังเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ภายในปี 2050 คาดว่าจะมีผู้สูงอายุสูงมากขึ้นถึง 20% จึงตามมาด้วยโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ในด้านของ Life Science เช่น การผลักดันให้ไทยเป็น Medical Hub ของภูมิภาค

.

หรือโอกาสทองในกลุ่ม Pharmaceutical ที่จากเดิมไทยเป็นเพียงฐานการผลิต เป็นโรงงานอัดเม็ดหรือบรรจุเท่านั้น ต่อไปไทยควรลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ให้มากขึ้น เพราะหน่วยงานด้าน research ของเรามีศักยภาพ หากมีกลุ่มธุรกิจสนับสนุนและยกระดับงานวิจัยขึ้นมา ย่อมมีโอกาสมากขึ้น

.

ธุรกิจ Nutrition และ Future Food จาก plant base และด้าน Medical Technology ที่ควรส่งเสริม เช่นการเป็นผู้ผลิตวัสดุทางการแพทย์ตั้งแต่ต้นน้ำ สามารถต่อยอดเป็นอุปกรณ์อื่นที่มีความจำเป็นได้อีกมาก

.

ในด้าน Mobility & Lifestyles เทรนด์ของประเทศไทยที่น่าสนใจนั้นเป็นเรื่องของ Health & Wellness, Green & Sustainability ซึ่งควรอยู่บนพื้นฐานของ Sharing Economy มากขึ้น และเป็น Digital base มากขึ้นด้วย

.

มีคนบอกว่า “หมดยุคปลาใหญ่กินปลาเล็กแล้ว แต่เป็นยุคของปลาที่ว่ายน้ำเร็ว” แต่ในโลกของ Digital Platform กลายเป็นปลาใหญ่และว่ายน้ำเร็ว นั่นคือตัวใหญ่ก็ยังกินตัวเล็กอยู่ดี เพราะฉะนั้นแนวโน้มของธุรกิจในตลาดดิจิทัล จะต้องหา position ของตัวเอง และต้องสามารถเชื่อมต่อกับ Phyical Platform ได้ เช่นเชื่อมกับการใช้งานหน้าร้าน เพราะอย่างไร มนุษย์ก็ไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่บนดิจิทัลแพลตฟอร์มได้ตลอด 24 ชม. ยังต้องไปพื้นที่จริง ใช้ทรัพยากรจริงอยู่เช่นเดิม

.

•สร้าง High Value Business ให้ประเทศ

Logistics & Infrastucture จะเป็นตัวขับเคลื่อนมหภาคครับ ดังนั้นภาครัฐควรมุ่งเน้นพัฒนาการขนส่งทางราง โดยเชื่อมโยงท่าเรือและสนามบินให้เกิดการขนส่งได้ทันที

.

ส่วนอีกทางหนึ่งของการขนส่งที่น่าสนใจมากๆ คือการขนส่งทางน้ำ เพราะประเทศไทยกับจีนนั้นมีระยะทางที่ใกล้กันมากกว่าการขนส่งทางรางด้วยซ้ำ ดังนั้นข้อเสนอของการพัฒนาที่ควบคู่กัน นอกจากทำรถไฟรางคู่แล้วก็ควรทำท่าเรือที่ใหญ่ขึ้นในจังหวัดระนอง เพื่อให้สามารถเชื่อมต่อทะเลอันดามันกับระบบขนส่งทางรางที่มีอยู่แล้วภายในประเทศจีน ให้ส่งสินค้าจากไทยตรงเข้าสู่แผ่นดินจีนตอนกลางได้เลย ช่วยประหยัดเวลาและค่าขนส่งมากกว่า นี่เป็นข้อได้เปรียบที่ประเทศไทยควรเร่งลงทุน

.

ด้าน AI, Robotics & Digitization เป็นเรื่องใกล้ตัวเข้ามาทุกทีแล้วครับ

ในประเทศเราเองก็มีการใช้ระบบดิจิทัลมากเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชีย จึงเป็นโอกาสที่จะเกิดธุรกิจที่เกี่ยวข้องในเรื่อง AI และ Robotics อาทิ การใช้ Drone อัจฉริยะ, การทำ Smart Farming, นำ AI เข้ามาใช้กับเครื่องจักร การพัฒนาด้าน Intelligent machines ทำให้หุ่นยนต์และเครื่องจักรฉลาดขึ้น

.

สำหรับปตท. มีการวางแผน High Value Business โดยสร้างมูลค่าเพิ่มปิโตรเคมีสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงและพลาสติกชีวภาพ เพื่อส่งมอบวัสดุที่ยั่งยืนให้ตลาดโลก โดยลงลึกในด้าน Specialty มากขึ้น ต่อยอดปิโตรเคมีเป็น Green Products การทำ Recycle, Upcycle และด้าน Bio & Circularity Product

.

นอกจากโอกาสทางธุรกิจใหม่ที่เรามองเห็น สิ่งที่ท้าทายที่สุดที่ทั่วโลกต่างเผชิญอยู่เช่นกัน คือปัจจัย 3 ประการที่สำคัญในการขับเคลื่อนและขาดไม่ได้ นั่นคือ

1. Technology เทคโนโลยีแห่งอนาคต

2. Capital เงินทุน

3. Talents บุคลากรที่มีความสามารถเฉพาะด้าน

แต่ทั้ง 3 ปัจจัยจะสำเร็จไม่ได้เลย หากขาด Passion and Purpose ครับ ต้องมี Passion ที่จะเปลี่ยนแปลง มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน เราถึงจะเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

.

ดังนั้น ในวันนี้ในความเห็นของผม เราทุกคนต้องหา Niche market ของตัวเองให้เจอ แล้วใช้ Digital Platform เพื่อดึงลูกค้าเข้ามาใช้บริการบน Phyical Platform ที่มี เพื่อให้เกิด Cross sales และ Plus sales และทำให้เข้า Ecosystem ของตัวเอง

.

#MOVEON

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *