[slideshow]
วันพุธที่ 07 เมษายน 2010 เวลา 09:07 น.
กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ การตลาด MARKETING – ตลาด
กลยุทธ์การตลาดที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน รูปแบบของการทำไม่ได้ต่างไปจากอดีต เพียงแต่สลับสับเปลี่ยน จับโน่นผสมนี่เข้าไปใหม่ ทุกอย่างก็ดูใหม่ขึ้น แต่เทรนด์การตลาดที่มากับ เทคโนโลยี ถือเป็นเทรนด์ที่น่าสนใจ ยิ่งถูกนำมาผสมผสานเข้ากับธุรกิจ ที่ถ้าจะว่าไปแล้ว ก็เป็นธุรกิจแบบบ้านๆ ร้านค้าติดดินทั่วไป อย่างธุรกิจ “ร้านก๋วยเตี๋ยว” ก็คงไม่ผิดนัก การผสมผสานเทคโนโลยีใหม่ด้านการสื่อสาร อย่างมีระบบแบบแผน ก็สามารถผลักดันให้ “ร้านก๋วยเตี๋ยว” ธรรมดาๆ อย่างร้าน “เจ๊กเม้ง ก๋วยเตี๋ยวเนื้อต้นตำรับเพชรบุรี” กลายเป็น “ก๋วยเตี๋ยว พรีเมี่ยม” ขึ้นมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ
“ธีรศานต์ สหัสสพาศน์” ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ เจ๊กเม้ง ก๋วยเตี๋ยวเนื้อต้นตำรับเพชรบุรี ได้บอกเล่าถึงวิธีการสร้างชื่อเสียง และการยกระดับ ร้าน “เจ๊กเม้ง ก๋วยเตี๋ยวเนื้อต้นตำรับเพชรบุรี” ว่า เริ่มต้นมาจากการมีความคิด ที่จะนำสิ่งที่อยู่ใกล้มือ และใช้อยู่ประจำอย่างอินเตอร์เน็ต การเข้าเว็บไซต์ Hi5 หรือ facebook มาพัฒนาปรับปรุงร้านก๋วยเตี๋ยวของครอบครัว ให้ตื่นเต้นดูมีสีสันมากขึ้น โดยการนำรูปก๋วยเดี๋ยว หรืออาหารที่มีอยู่ในร้าน ไปโพสต์ขึ้น Hi5 ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะคนบนโลกออนไลน์ มักถ่ายภาพสถานที่ท่องเที่ยว อาหารที่ตัวเองกิน มาโพสต์ไว้บนหน้า blog หน้า Hi5 หรือ Facebook ของตัวเอง เพื่อแชร์กับเพื่อนๆ อยู่แล้ว
แต่เผอิญว่า คนที่โพสต์ภาพครั้งนี้ เป็นลูกค้าเจ้าของร้าน และมีเป้าหมายที่เผยแพร่ให้เพื่อนๆ บนโลกออนไลน์ ได้รู้จักกับร้าน และอาหารของตัวเอง เพราะฉะนั้น จึงมีการเพิ่มเติมแผนที่ร้าน เมนูเด็ด และการทำคลิปสั้นๆ เป็นการแนะนำร้านเข้าไปด้วย นอกจากนั้น ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจคนนี้ ยังเรียนรู้ที่จะทำ Search Engine ให้นักค้นหาข้อมูล สถานที่กิน สถานที่ท่องเที่ยว ผ่าน google หรือเว็บ Search Engine ต่างๆ ด้วยการใส่ Key Word ที่สามารถดันให้เว็บไซต์ของเขา ขึ้นมาเป็นเว็บไซต์แรกๆ สำหรับการค้นหาร้านอาหารอีกด้วย
ตรงนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ธุรกิจบริษัทใหญ่ๆ ทำกันอยู่แล้ว แต่สำหรับ “เจ๊กเม้ง ก๋วยเตี๋ยวเนื้อต้นตำรับเพชรบุรี” น่าจะเป็นร้านก๋วยเตี๋ยวร้านแรกๆ ที่นำวิธีการเชื่อมโครงข่ายบนโลกออนไลน์เช่นนี้ มาใช้เป็นสื่อในการประชาสัมพันธ์แนะนำให้คนรู้จักร้านของเขา จนปัจจุบันร้านเจ๊กเม้ง มีเพื่อนสมาชิกใน Hi5 มากกว่า 1,000 ราย และFacebook อีกกว่า 1,000 ราย หลังจากเปิดร้านและเริ่มทำ Social Media Network ในลักษณะนี้มาเมื่อ 3 ปีที่แล้ว
นอกจากการทำ Social Media Network ผ่านเว็บไซต์แล้ว ที่ร้านยังมีการพัฒนารูปแบบเพื่อรองรับลูกค้า ด้วยการจัดทำวิดีโอแนะนำร้าน การจัดมุมให้ถ่ายรูป สำหรับนักโพสต์รูปทั้งหลาย ซึ่งทุกมุมของร้าน จะมีป้ายชื่อร้านติดไว้ด้วย ไม่ว่าลูกค้าจะขยับถ่ายภาพมุมไหน ก็จะมีชื่อร้านปรากฏอยู่ในภาพด้วยตลอด เพราะฉะนั้น เมื่อมีการโพสต์ภาพลงบนเว็บไซต์ ก็จะเป็นการประชาสัมพันธ์ชื่อร้านเจ๊กเม้งไปในตัว
ล่าสุด สำหรับเซียน BB หรือ สาวกสมาร์ทโฟนแบล็คเบอร์รี่ ที่ร้าน ยังมีการติด BB Pin หรือ BB Barcode ไว้ให้คนที่ถือ BB มายิงต่อเชื่อมเน็ตเวิร์กกันได้อีกด้วย
“ธีรศานต์” บอกว่า ลูกค้าที่เข้าร้านส่วนใหญ่ตอนนี้ มาจากกรุงเทพฯ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ เพชรบุรีเป็นเมืองท่องเที่ยว และอีกส่วนหนึ่งประมาณ 35% เป็นลูกค้าที่รู้จักร้านจาก Social Media Network ที่เขาเป็นคนไปสร้างเครือข่ายไว้ด้วยตัวเอง และลูกค้าที่มานั่งรับประทานอาหารที่ร้าน ทางร้านยังมีแบบฟอร์มให้กรอก เพื่อเก็บไว้เป็นข้อมูลในการพัฒนาร้าน และเป็นแนวทางในการขยายช่องทางตลาดใหม่ๆ ให้กับร้านก๋วยเตี๋ยวเจ็กเม้ง ซึ่งขณะนี้ มีฐานข้อมูลของลูกค้าแล้วกว่า 3,000 ราย
“หลังจากลูกค้าแวะมาทานอาหารที่ร้านแล้ว เราจะมี Message ส่งไปขอบคุณ เราระวังเรื่องการส่ง Message ไปรบกวนลูกค้ามาก การจะส่ง Message จึงส่งไปเฉพาะลูกค้าที่มาทาน แล้วส่งไปขอบคุณ หรือส่งไปอวยพรวันเกิด สิ่งที่เราไม่ทำแน่นอน คือ การ forward mail เพราะจะสร้างความรำคาญให้ลูกค้า และสำหรับคนที่กรอกที่อยู่ไว้ให้ ทางร้านจะส่งข้อมูล จัดทำขึ้นเป็นเหมือนหนังสือพิมพ์ มีข้อมูลของทางร้าน และข่าวสารอื่นๆ ซึ่งจัดทำขึ้นเป็นรายเดือน ส่งให้เฉพาะคนที่ใส่ที่อยู่ให้ โดยตอนนี้มียอดประมาณ 1 หมื่นฉบับต่อเดือน”
ส่วนข้อมูลที่ลูกค้ากรอกไว้ให้ ส่วนหนึ่งคือ การนำมาทำ ลูกค้าสัมพันธ์ (Customer Relationship Management : CRM) และส่วนที่สำคัญคือ คอมเมนต์จากลูกค้า ว่าอาหารที่ร้านเป็นอย่างไร มาที่ร้านแล้วเป็นอย่างไร นอกจากนี้ ข้อมูลที่ได้จะทำให้รู้ว่า ควรขยายฐานลูกค้าอย่างไร เช่น จากข้อมูล จะเห็นว่ามีกลุ่มพนักงานบริษัทเข้ามารับประทาน ก็สามารถเจาะเข้าไปในแง่ของงานสัมมนาในบริษัท เป็นต้น
นอกจากร้านก๋วยเตี๋ยว ตอนนี้ยังขยายธุรกิจเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่ม น้ำผลไม้สด และน้ำดื่ม ภายใต้แบรนด์ “Khun SIRIRAT” ซึ่งเดิมที “ธีรศานต์” บอกว่า ตอนที่ผลิตออกจำหน่ายใหม่ๆ ไม่ประสบผลสำเร็จ หลังจากศึกษาตลาดแล้วพบว่า แพ็กเกจจิ้งและดีไซน์เป็นส่วนสำคัญ เนื่องจากผู้บริโภคปัจจุบัน ต้องการบรรจุภัณฑ์ที่ดูดี ถือแล้วช่วยเสริมบุคลิกของตัวเอง สิ่งที่ถูกพัฒนาหลังจากนั้นคือ การปรับเปลี่ยนดีไซน์ของฉลากที่ติดบนขวด ใช้ดีไซน์ตัวหนังสือ และสี ที่ดูเป็นป๊อปอาร์ต มีความทันสมัย ก็สามารถทำให้ยอดขายของเครื่องดื่มน้ำผลไม้สด และน้ำดื่ม แบรนด์เดิมตัวนี้ ประสบความสำเร็จในตลาดได้
ส่วนที่เสริมเพิ่มเติมหลังจากนั้น คือ การเพิ่มช่องทางการสื่อสาร ซึ่งใช้แนวทางเดียวกับร้านก๋วยเตี๋ยว และยังปรับเปลี่ยนช่องทางการจัดจำหน่ายใหม่ โดยพ่วงไปกับร้านก๋วยเตี๋ยว ที่มีการจัดทำแคเตอริง ทำเป็นเซต ส่งให้งานต่างๆ เช่น งานสัมมนาบริษัท งานแต่ง งานศพ และยังตั้งบูธในโมเดิร์นเทรด เช่น บิ๊กซี เทสโก้ โลตัส และการวางจำหน่ายในศูนย์ขนมต่างๆ ในจังหวัดเพชรบุรี และล่าสุด ยังร่วมกับ A Space คอนโดมิเนียม สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน โรงเรียนสวนกุหลาบ นำสินค้าไปวางจำหน่ายด้วย
ขณะนี้ ยังมีการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ในรูปแบบของน้ำผลไม้ผง เช่น น้ำมะนาวผง มะตูมผง ด้วยการให้ความสำคัญกับการควบคุมมาตรฐาน และผู้บริหารหนุ่มคนนี้ ยังมีแนวคิดที่จะขยายพื้นที่ร้าน จัดทำเป็นศูนย์ที่ให้คนแวะเวียนมารับประทานก๋วยเตี๋ยว ซื้อของฝาก และแวะถ่ายรูป โดยจะใช้งบลงทุนกว่า 30 ล้านบาท สำหรับการจัดทำร้านแห่งใหม่ บนพื้นที่ประมาณ 4-5 ไร่ ซึ่งขณะนี้กำลังออกแบบตึก
การนำ Social Media Network มาเป็นสื่อในการประชาสัมพันธ์ร้าน ส่งผลให้ยอดขายของร้านขยับขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากเดิมรายได้ของร้านอยู่ที่หลัก 1,000 บาท ขายดี ในช่วงวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ แต่หลังจากนำการตลาดแบบ Social Media Network มาใช้ ทำให้ยอดขายวันธรรมคามีคนเข้าร้าน 170-200 คน ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ เพิ่มเป็น 300-400 คน ช่วงวันหยุดยาว จะเพิ่มเป็น 500 คน ขณะที่อายุเฉลี่ยของลูกค้าเด็กลง เรียกว่ารายได้เพิ่มขึ้น 100% เลยทีเดียว ส่วนน้ำผลไม้ ขณะนี้โรงงานน้ำผลไม้ มียอดผลิตได้ 2 หมื่นขวดต่อวัน แต่ตอนนี้ผลิตอยู่ที่ 12,000-15,000 ขวด
“ธีรศานต์” กล่าวทิ้งท้ายว่า การใช้ Social Media Network มีทั้งแง่ดีและแง่ร้าย แง่ดีคือ แทบไม่มีต้นทุน และกระจายข่าวสารได้เร็วมาก แต่ต้องรู้จักจังหวะในการทำ และที่สำคัญ ต้องระมัดระวังอย่างมาก คือ เรื่องของ effect ถ้าอะไรที่เยอะเกินไป ไม่จริง จะมี Feedback กลับมาเร็วมาก ถ้าไม่ดีจริง ก็จะลำบาก ทุกอย่างต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง ต้องทำได้จริง ทุกอย่างต้องเป็นจริงตามที่ประชาสัมพันธ์ออกไป เพราะปัจจุบันโลกออนไลน์เป็นอะไรที่เร็วมาก
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,520 8 – 10 เมษายน พ.ศ. 2553