#TME1 EP.2 “Aesthetics :: ความงามสร้างคน… สุนทรียภาพสร้างชาติ” สรุปแนวคิด อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ วัดร่องขุน จ.เชียงราย

#TME1 EP.2 “Aesthetics :: ความงามสร้างคน… สุนทรียภาพสร้างชาติ” สรุปแนวคิด อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ วัดร่องขุน จ.เชียงราย.

.

สรุปเนื้อหาการดูงาน จากการเข้ารับฟังบรรยายอาจารย์ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ วัดร่องขุน จ.เชียงราย วันศุกร์ที่ 21 เมษายน 2560

หลักสูตรการบริหารการท่องเที่ยวสำหรับผู้บริหารระดับสูง (กทส.) #TME1

.

.

“The world is a book and those who do not travel read only one page.” 

– St. Augustine โลกใบนี้เปรียบเหมือนหนังสือเล่มหนึ่ง และคนที่ไม่เคยเดินทางเลย 

ก็เปรียบเหมือนคนที่อ่านหนังสือเพียงหน้าเดียว

.

.

ประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับการยอมรับจากสถาบันจัดอันดับชั้นนำมากมายไม่ว่าจะเป็น มาสเตอร์การ์ด ,ทริปแอดไวเซอร์ , กินเนสส์บุ๊ค

.

.

ในปี 2559 กรุงเทพคว้าตำแหน่งจุดหมายปลายทางอันดับหนึ่งของโลก จากเวทีการจัดอันดับแหล่งท่องเที่ยวทั่วโลกที่สำรวจโดย มาสเตอร์การ์ด (Mastercard Global Destinations Cities Index) และยังครองตำแหน่งแชมป์เมืองจุดหมายปลายทางของโลกอันดับ 1 บ่อยที่สุด คือ 2554, 2555, 2556, 2557 และ 2559

.

.

ส่วนปี 2015 นั้นตำแหน่งแชมป์ตกเป็นของลอนดอน ซึ่งปัจจัยที่ทำให้กรุงเทพพลาดในปีนั้น คือ สถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองที่กินระยะเวลาหลายเดือนติดต่อกัน แต่ก็ได้แสดงให้เห็นความแข็งแกร่งของกรุงเทพ และประเทศไทย ที่ไม่ว่าจะเจอกับปัญหาใดๆ ก็สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว

.

.  

นอกจากกรุงเทพแล้ว เรามี “สะพานมอญ” สะพานไม้ที่ยาวเป็นอันดับ 2 ของโลก มากไปกว่านั้นเรายังมี “ตลาดนัดสวนจตุจักร” ตลาดนัดที่กินเนสส์บุ๊ค เวิลด์ ออฟ เร็คคอร์ด บันทึกไว้ว่าเป็นตลาดนัดที่ใหญ่ที่สุดในโลก  

.

.

เรามี “ความงามที่มนุษย์สร้าง” อยู่อย่างมากมายอยู่ในแต่ละส่วนในประเทศของเรา แต่ที่ยอดเยี่ยมกว่านั้นเรามี “ความงามที่ธรรมชาติสร้าง” ไว้อีกด้วย 

.

.

จากผลสำรวจของทริปแอดไวเซอร์ เว็บไซต์ท่องเที่ยวรายใหญ่ที่สุดในโลก “ชายหาดไร่เลย์” จังหวัดกระบี่ ติดอันดับ 3ชายหาดที่สวยที่สุดในโลก นอกเหนือจากนั้น “หมู่เกาะสิมิลัน” ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก ที่เป็นหมู่เกาะที่มีความงามทั้งบนบกและ ใต้น้ำจัดอันดับโดยนิตยสารสกินไดวิ่ง

.

.

แต่ทำไมเราคนไทยส่วนมากกลับไม่ปกป้องและหวงแหน “สมบัติของชาติ” ? ทำไมเราถึงได้มองข้าม สิ่งที่บรรพบุรุษของเราและธรรมชาติได้มอบไว้ให้ ?

.

.

นอกจากจะไม่ปกป้องแล้วซ้ำร้ายกว่านั้นเรากลับเลือกทำลายสมบัติชิ้นนั้นด้วยมือของพวกเราเอง

.

.

อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ และผู้สร้างวัดร่องขุ่น มองว่าปัญหาเหล่านี้เกิดจาก “พื้นฐานสามัญสำนึกของคนไทย”

.

.

เรานั้นมีความมืดบอดใน “สุนทรียภาพ” เรามองไม่เห็นความแตกต่างระหว่าง “สถาปัตยกรรมที่งดงาม” กับ “อิฐ หิน ปูน ทราย” ว่าแตกต่างกันอย่างไร เราเข้าไม่ถึงความงามที่ธรรมชาติมอบให้ และเมื่อเราไม่เข้าใจว่าสิ่งนั้นมีความงดงามซ่อนอยู่ภายใน แล้วเราจะปกป้องสิ่งนั้นไปทำไม?

.

.

ประเทศแถบยุโรป ประเทศญึ่ปุ่น และประเทศสิงคโปร์ มีพื้นฐานการศึกษาที่ดี พื้นฐานที่ดีเหล่านั้นสร้างให้คนในชาติเป็นคนที่มี “สุนทรียภาพ” พวกเขาสามารถแยกแยะได้ว่าอะไรคือ “ศิลปะ” และอะไรคือ “อิฐ หิน ปูน ทราย” พวกเขาสัมผัสได้ถึง “สุนทรียภาพทางวัฒนธรรม” ที่มีความงดงามและวิจิตร ดังนั้นพวกเขาจึงปกป้องและหวงแหน

.

.

และพื้นฐานการศึกษาที่ดีนั้น ได้สร้างนักท่องเที่ยวที่มี “สุนทรียภาพระดับสากล” เพราะพวกเขามีรสนิยมทางศิลปะ พวกเขาวิจักษ์ใน“ศิลปะและวัฒนธรรม” ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวเหล่านั้นเป็นนักท่องเที่ยวที่ดีและท่องเที่ยวเป็น 

.

.

พวกเขาไม่ได้รู้จักดื่มกินอาหารเพื่อหล่อเลี้ยงร่างกายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่พวกเขายังรู้จักวิธีดื่มกิน “สุนทรียภาพ” ที่จะปรนนิบัติจิตวิญญาณให้เติบโต จิตวิญญาณที่เป็นรากฐานของ EQ

.

.

และรวมถึงผู้หลัก ผู้ใหญ่ของเราที่ไม่เข้าใจถึง “ความงดงามที่ก้าวข้ามผ่านกาลเวลา” สิ่งใดที่ไม่ได้อยู่ในยุคสมัยของมันนั่นคือ “ความเก่า” ซึ่งเป็นความเก่าที่ถูกให้ราคาว่า “ไม่น่ามอง” ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองเราจึงเลือกที่จะ “ทำลายเพื่อสร้างใหม่” มากกกว่าการ “บูรณะเพื่อซ่อมแซม”

.

.

และเมื่อผู้หลัก ผู้ใหญ่ ที่มีอำนาจและความรู้ กลับมองไม่เห็น “คุณค่าจากสุนทรียภาพ” จึงเป็นธรรมดาที่เราคนไทยผู้น้อยจะมอง “สุนทรียภาพ” เป็นแค่อิฐ หิน ปูน ทราย และยากที่จะปกป้อง

.

.

อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหานี้ ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพียงแต่ต้องอาศัยความทุ่มเทและความเข้าใจใน “สุนทรียภาพ” อย่างลึกซึ้ง ประกอบเข้ากับความร่วมมือของ “คนรุ่นเก่า” และ “คนรุ่นใหม่” 

.

.

“คนรุ่นเก่า”ต้องไม่ได้เพียงแค่สอนให้รู้จักความงดงามทางวัตถุเท่านั้น แต่ต้องปลูกฝังให้ “คนรุ่นใหม่” รู้สึกถึงความงดงามในระดับจิตวิญญาณ รวมถึงปลูกฝังให้คนรุ่นใหม่มีจิตสำนึกและมีสุนทรียภาพ ซึ่งจะนำไปสู่การหวงแหนและปกป้อง 

.

การปกป้องศิลปะและวัฒนธรรมของชาตินั้น เป็นเรื่องที่ยากและเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่เป็นสิ่งที่เราจะเลือกทำ ไม่ใช่เพราะง่ายและสะดวกสบายแต่เพราะเป็นเรื่องยากและท้าทาย จึงเป็นสิ่งคุ้มค่าและควรค่าที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง 

.

.

🙂

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น